พระธาตุเจดีย์ในประเทศไทย

 

พระธาตุเจดีย์ในประเทศไทย

พระธาตุ หมายถึง อัฐิ (กระดูกที่เผาแล้ว) ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ ถ้าเป็นอัฐิของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระบรมธาตุ ถ้าเป็นอัฐิพระอรหันต์ เรียกว่า พระธาตุ แต่โดยทั่วไปแล้วจะเรียกรวม ๆ ว่า พระธาตุ
สำหรับพระธาตุในที่นี้ หมายถึงส่วนสำคัญของพระสถูป หรือพระปรางค์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระธาตุไว้ภายใน ซึ่งเรียกว่า ธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพุทธเจดีย์ทั้งสี่ ซึ่งได้แก่

พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุ อินเดีย เรียกเจดีย์ประเภทนี้ว่า สรีริกสถูป พระธาตุเจดีย์ รวมถึง เจดีย์ที่บรรจุธาตุของพระอรหันต์สาวกด้วย ถ้าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะก็จะเรียกว่า พระมหาธาตุ พระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ ถ้าเรียกพระธาตุส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะก็จะเรียกชื่อตามนั้น เช่น

พระทันตธาตุ หรือพระทาฒธาตุ (ฟัน หรือ เขี้ยวของพระพทุธเจ้า)
พระเกศธาตุ (เส้นพระเศาของพระพุทธเจ้า)
พระอุรังคธาตุ (พระธาตุส่วนที่เป็นกระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้า

บริโภคเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุของใช้ที่เกี่ยวกับเนื่องกับพระพุทธเจ้า ได้แก่ อัฐบริขาร มีบาตรและจีวร เป็นต้น นอกจากนั้นยังรวมไปถึงสถานที่อันเป็นสังเวชนียสถานทั้งสี่ คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินีวัน) ตรัสรู้ (พุทธคยา) แสดงปฐมเทศนา (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน) และปรินิพพาน (เมืองกุสินารา) รวมพระแท่นที่บรรทมตอนปรินิพพาน อินเดียเรียกเจดีย์ประเภทนี้ว่า ปาริโภคสถูป

พระธรรมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุ หรือ จารึก พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เช่น หอพระไตรปิฎก และส่วนที่เป็นพระไตรปิฎกเอง ไม่ว่าจะจารึกในรูปแบบใด เดิมได้เลือกเอาหัวใจพุทธศาสนา จารึกเป็นตัวอักษร ประดิษฐานไว้สำหรับบูชา มีความว่า " เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นีโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ

อุเทสิกเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่ทำเป็นพุทธบัลลังก์ พระแท่นพระพุทธเจ้า รวมถึงพระพุทธฉายด้วย อินเดียเรียกเจดีย์ ประเภทนี้ว่า อุทเทสิกสถูป สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา
รวมความได้ว่า พระเจดีย์ เป็นที่ทำเป็นหรือบรรจุสิ่งที่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า อันเป็นสิ่งที่ควรแก่การสักการบูชา
พระธาตุเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ที่รู้จักกันดี และพบกันมากที่สุด สำหรับประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก มีขนาดและอายุแตกต่างกัน พอประมวลได้ดังนี้

พระปฐมเจดีย์

เป็นพระมหาเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย การที่ได้ชื่อว่าพระปฐมเจดีย์นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงสัณนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระเจดีย์เก่ากว่าพระเจดีย์อื่น ๆ ในประเทศสยาม สันนิษฐานว่าสร้างสมัยทวาราวดี ตั้งอยู่ที่เมืองนครไชยศรีในสมัยก่อน ปัจจุบันอยู่ในอำเภอเมืองนครปฐม
จากเอกสารเก่าที่บันทึกเรื่องนี้ไว้มีประวัติว่า พระปฐมเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๕๐๐ ก็มี พ.ศ. ๑๐๐๐ ก็มี พ.ศ. ๑๑๘๕ ก็มี พ.ศ. ๑๒๖๔ ก็มี พ.ศ. ๑๖๓๐ ก็มี ความสูง ๔๐ วา ๕ ศอก มีพระแท่นบรรทม ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทม บรรจุพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว องค์หนึ่ง บรรจุพระบรมธาตุ หนึ่งทะนาน มีปรากฎก่อนพบพระพุทธบาท พระพุทธฉาย กว่าพันปี


เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ในขณะที่ทรงผนวชอยู่และได้ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ได้ทรงแสดงสภาพพระปฐมเจดีย์ไว้ว่า เป็นเพระเจดีย์ใหญ่ยอดปรางค์ ตอนหนึ่ง ฐานล่างกลมเป็นรูประฆัง ตอนหนึ่ง น่าจะทำมาหลายคราว คนทั่วไปเรียกว่า พระปทม เนื่องด้วย เชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาบรรทมที่นั่น จากฝีมือทำอิฐและก่อ แสดงว่าเป็นของทำมาเก่าแก่หลายครั้ง ที่เนินใหญ่เป็นกองอิฐหักลงมา เมื่อขุดลงไปสักสองสามศอกพบอิฐยาวศอกหนึ่ง หน้าใหญ่สิบสองนิ้ว หน้าน้อยหกนิ้ว ก่อเป็นพื้น น่าจะเป็นองค์พระเจดีย์เดิมหักพังลงมา แล้วมีการก่อพระเจดีย์ออกบนเนินเรียงรายอยู่สี่วิหาร


มีวิหารพระนาคปรก วิหารพระไสยาสน์ วิหารไว้พระพุทธรูปต่าง ๆ และวิหารพระป่าเลไลย์ วิหารหลวงพระอุโบสถอยู่บนพื้นแผ่นดิน ตั้งแต่หลังเกาะสูงประมาณมีถึงห้าวา หลังเกาะขึ้นไปเป็นองค์พระเจดีย์กลม ๑๔ วา ๒ ศอก ปรางค์สูง ๒๐ วา ยอดนพศูลสูง ๘ ศอก รวมความสูงตั้งแต่หลังเกาะถึงยอดนพศูลสูง ๘ ศอก รวมความสูง ตั้งแต่หลักเกาะถึงยอดนพศูล ๔๐ วา ๒ ศอก


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นแม่กองทำการปฏิสังขรณ์ และเมื่อสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ถึงแก่พิราลัย ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี เป็นแม่กองดำเนินการต่อไป ได้จ้างพวกมอญทำอิฐ รวมทั้งทาสลูกหนี้ด้วย โดยคิดหักค่าตัวให้ จ้างจีนมาเผาปูน และ เป็นช่างก่อ เอาราษฎรจากเมืองนครไชยศรี เมืองสมุทรสาคร เมืองราชบุรีและเมืองพนัสนิคม โดยแบ่งคนออกเป็นสี่ผลัด เดือนละสองร้อยคน เมื่อก่อพระเจดีย์ได้สูง ๑๗ วา ๒ ศอก
ต่อมาเกิดฝนตกหนักอิฐที่ก่อทรุดตัวลง เพราะฐานทักษิณไม่มี จึงต้องรื้อออกทำใหม่ โปรดเกล้า ฯ ให้ถมพื้นที่ลุ่มดอนให้เสมอกัน ก่อฐานใหญ่รอง ๕ เส้น ๑๖ วา ๓ ศอก องค์พระเจดีย์ถึงยอดนพศูล ตลอดยอดมงกุฏ สูง ๓ เส้น ๑ คืบ ๖ นิ้ว