ศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย

ศาสดาแห่งศาสนาซิกช์

 

ตามที่ปรากฎในประวัติศาสตร์ มีประมุขแห่งศาสนาซิกข์อยู่สิบท่านด้วยกันคือ

๑. คุรุนานัก ก่อนสิ้นชีพไม่สามารถพึ่งลูกชายสองคนเป็นผู้สืบต่อทางลัทธิได้ ท่านจึงได้ประกาศแต่งตั้งศิษย์ที่รักของท่านคนหนึ่งซึ่งเป็นคนขวั้นเชือกขายชื่อลาหินา (Lahina) เป็นผู้สืบต่อ แต่เนื่องจากศิษย์ผู้นี้มีการเสียสละต่อท่านคุรุนานักตลอดมา ท่านจึงเปลี่ยนนามให้ใหม่ว่าอังคัต (Angal) แปลว่า ผู้เสียสละร่างกาย
๒. คุรุอังคัต (พ.ศ.๒๐๘๑ - ๒๐๙๕) ท่านผู้นี้เป็นนักภาษาศาสตร์ สามารถเผยแพร่คำสอนของอาจารย์ไปได้ยิ่งกว่าคุรุคนใด ท่านเป็นคนแรกที่แนะนำสาวกให้นับถือคุรุนานักว่า เป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง
๓. คุรุอมาร์ ทาส (Amardas พ.ศ.๒๐๙๕ - ๒๑๑๗) ท่านเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นคนสุภาพ ได้ตั้งองค์การลัทธิซิกข์ขึ้นมาเป็นอันมาก ได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งเสริมลัทธิซิกข์ไว้ได้อย่างมั่นคง
๔. คุรุรามทาส (Ramsas พ.ศ.๑๑๑๗ - ๒๑๒๔) ท่านเป็นผู้สร้างศูนย์กลางของลัทธิซิกข์ไว้แห่งหนึ่งให้ชื่อว่า "หริมณเฑียร" คือวิหารซิกข์ไว้ในทะเลสาบเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นลาฮอร์ สถานที่ดังกล่าวเรียกว่า อมฤตสระกลายเป็นที่บำเพ็ญบุญ ศูนย์กลางของลัทธิซิกข์ เช่นเดียวกับเมืองเมกกะ ศูนย์กลางของลัทธิอิสลาม ท่านได้ตั้งแบบแผนไว้ว่า ผู้สืบต่อตำแหน่งคุรุ จำเป็นต้องเป็นเชื้อสายของตนเอง ดังนั้นท่านได้แต่งตั้งบุตรชายของท่านเป็นคุรุต่อไป
๕. คุรุอรชุน (Arjan พ.ศ.๒๑๒๔ - ๒๑๔๙) เป็นผู้รวบรวมคัมภีร์ในลัทธิซิกข์ได้มากกว่าผู้ใด คัมภีร์ที่รวบรวมเก็บจากโอวาทของคุรุทั้งสี่ท่านที่ผ่านมา และได้เพิ่มโอวาทของท่านเองไว้ในคัมภีร์ด้วย เป็นผู้ออกบัญญัติว่า ชนชาติซิกข์ ต้องแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายของศาสนานิยม ไม่นิยมแต่งตัวด้วยวัตถุมีราคาแพง ตั้งกฎเกณฑ์เก็บภาษีเพื่อบำรุงศาสนา ได้ชื่อว่าเป็นผู้เผยแพร่ลัทธิได้อย่างกว้างขวาง เสริมสร้าง หริมณเฑียร ขึ้นเป็น สุวรรณวิหาร สิ้นชีพในการต่อสู้กับกษัตริย์กรุงเดลี
๖. คุรุ หริโควินทะ (Hari Covind พ.ศ.๒๑๔๙ - ๒๑๘๑) เป็นคุรุคนแรก ที่สอนให้ชาวซิกข์นิยมดาบ ให้ถือดาบเป็นเครื่องหมายของชาวซิกข์ ผู้เคร่งครัดในศาสนา เป็นผู้ส่งเสริมกำลังทหาร สั่งสอนให้ชาวซิกข์เป็นผู้กล้าหาญ ต้านทานศัตรู (ซึ่งเข้ามาครองดินแดนอินเดียอยู่ในขณะนั้น)
เป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่สมัยนี้เป็นต้นไป เรื่องของศาสนาซิกข์ เป็นเรื่องของอาวุธ เรื่องความกล้าหาญ เพื่อต่อสู้ศัตรูผู้มารุกรานแผ่นดิน
๗. คุรุ หริไร (Hari Rai พ.ศ.๒๑๘๑ - ๒๒๐๗) ท่านผู้นี้ได้ทำการบต้านทานโอรังเซฟกษัตริย์มุสลิมในอินเดีย
๘. คุรุ หริกิษัน (Hari Kishan พ.ศ.๒๒๐๗ - ๒๒๑๘) ได้ดำเนินการเผยแพร่ลัทธิด้วยการต่อต้านกษัตริย์โอรังเซฟ เช่นเดียวกับ คุรุ หริไร
๙. คุรุ เทคพาหาทูร์ (Tegh Bahadur พ.ศ.๒๒๑๘ - ๒๒๒๙) เป็นนักรบที่แกล้วกล้า สามารถต้านทานการรุกรานของกษัตริย์อิสลาม ที่เข้ามาครอบครองอินเดีย และข่มขู่ศาสนาอื่น ท่านได้เผยแพร่ศาสนาซิกข์ ออกไปได้กว้างขวาง สุดเขตตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และแผ่มาทางใต้จนถึงเกาะลังกา ท่านได้ต้านทานอิสลามทุกทาง พวกมุสลิมในสมัยนั้นไม่กล้าสู้รบกับคุรุท่านนี้ได้

๑๐. คุรุ โควินทสิงห์ (Covind Singh พ.ศ.๒๒๒๙ - ๒๒๕๑) เป็นบุตรของคุรุเทคพาหาทูร์ เป็นผู้ริเริ่มตั้งบทบัญญัติใหม่ในศาสนาซิกข์ ด้วยวิธีปลุกใจสานุศิษย์ให้เป็นนักรบ ต่อต้านกษัตริย์มุสลิม ผู้เข้ามาข่มขี่ศาสานาอื่น เพื่อจรรโลงชาติ ท่านได้ตั้งศูนย์กลางการเผยแพร่ลัทธิซิกข์อยู่ที่เมืองดัคคา (Dacca) และแคว้นอัสสัมในเบงกอลตะวันออก ท่านได้ประกาศแก่สานุศิษย์ทั้งหลายว่า ทุกคนควรเป็นนักรบต่อสู้กับศัตรู เพื่อจรรโลงชาติ ศาสนาของตน ซิกข์ทุกคนต้องเป็นคนกล้าหาญ คำว่า "สิงห์" อันเป็นความหมายของความกล้าหาญ เป็นชื่อของบรรดาสานุศิษย์แห่งศานาซิกข์มาตั้งแต่ครั้งนั้น และ "สิงห์" ทุกคนต้องรวมเป็นครอบครัวบริสุทธิ์
คุรุโควินทสิงห์ เป็นผู้ริเริ่มลัทธิศีลจุ่ม (Baptismal Rite) ขึ้นในลัทธิซิกข์ เป็นผู้ริเริ่มประกอบพิธีให้ผู้มาเป็นสานุศิษย์ ด้วยวิธีประพรมน้ำมนต์ และวิธีให้ดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีดาบคมแช่ไว้ เป็นเครื่องหมายว่าผู้ดื่มน้ำต้องเป็นผู้กล้าหาญ น้ำดังกล่าวนี้เรียกว่า "น้ำอมฤต" ผู้ได้ดื่มเท่ากับถึงความบริสุทธิ์ พร้อมที่จะออกรบเพื่อจรรโลงชาติ ศาสนา

ประวัติประกอบเรื่องลัทธิพิธี "ศีลจุ่ม" มีอยู่ว่า กษัตริย์มุสลิมผู้เรืองอำนาจคือ โอรังเซฟ ได้เข้ามาครอบครองอินเดีย ข่มขู่ชาติศาสนาอื่น ไม่มีนักรบอินเดียเหล่าใดจะปราบปรามโอรังเซฟได้ คุรุโควินทสิงห์ จึงฝึกสานุศิษย์ขึ้นหมู่หนึ่ง ทำสัตย์ปฎิญาณจะต่อสู้กับศัตรู ซึ่งมีกำลังมากกว่า โดยให้ตักน้ำจากแม่น้ำหม้อหนึ่ง เทน้ำนั้นลงในภาชนะใหญ่ใบหนึ่ง แล้วเอาดาบประจำตัวของท่านคุรุมากวนน้ำ บริกรรมมนต์อันเป็นศาสโนวาทของคุรุ แต่เก่าก่อนเรียกน้ำนั้นว่า น้ำอมฤต แล้วรดน้ำอมฤตลงบนศีรษะของศิษย์ และให้จิบน้ำสามครั้ง นับเป็นการรับศีลอกาลี (ไม่มีกาล - เป็นนิรันดร อันเป็นสรรพนามของพระเจ้า) ที่บัญญัติขึ้นใหม่

จากนั้น ท่านคุรุ จะให้ศีล ๒๑ ข้อ เป็นศีลประจำชีวิตของศิษย์ทุกคนคือ

๑. นับถือคุรุทุกคนเป็นมิตร และถือตนเป็นบุตรแห่งศาสนานั้น
๒. นับถือเมืองปาตลีบุตร และกานันทปุระ ว่าเป็นปูชนียสถานที่เกิดของศาสนา
๓. เลิกถือชั้น วรรณะ
๔. ห้ามทะเลาะวิวาทระหว่างศิษย์ด้วยกัน
๕. พยายามพลีชีพในสนามรบ
๖. บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามประการคือ

- พระเป็นเจ้า ผู้เป็นสัจจะ เป็นศรีและเป็นอกาล
- ศาสโนวาทของคุรุทั้งหลาย
- ความบริสุทธิ์

๗. มี "ก" ห้าประการไว้กับตน คือ กฑา (กำไลเหล็ก) กัจฉา (กางเกงขาสั้น) เกศ (ผม) กังฆา (หวี) กฤปาณ (ดาบ)
๘. เว้นจากการพูดเท็จ
๙. เว้นจากความโลภ โกรธ หลง และนับถือภรรยาท่านเสมอด้วยมารดา
๑๐. เว้นจากการเกี่ยวข้องกับผู้เป็นปรปักษ์ต่อศาสนา
๑๑. ผู้ใดไม่ส่งเสริมการรบไม่คบกับผู้นั้น
๑๒. ห้ามใช้สีแดง เช่น เสื้อผ้าสีแดง (เนื่องจากสีแดง เป็นเครื่องหมายแห่งความรัก และเมตตาอันเป็นอารมณ์ที่ขัดต่อนิสัยนักรบ)
๑๓. ให้ใช้นามสกุล "สิงห์" ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
๑๔. ห้ามเปลือยศีรษะ นอกจากเวลาอาบน้ำ
๑๕. เว้นจากการเล่นการพนัน
๑๖. ห้ามตัดหรือโกนผม หนวดและเครา
๑๗. ห้ามเกี่ยวข้องกับบุคคลผู้เบียดเบียนชาติศาสนา
๑๘. ให้ถือว่าการขี่ม้า ฟันดาบและมวยปล้ำเป็นกิจที่ต้องทำเป็นนิจ
๑๙. ให้ถือว่าเกิดมาเพื่อทำความสุขให้ผู้มีทุกข์ และทำความเจริญให้แก่ชาติศาสนา
๒๐. เว้นจากการหรูหราโดยไร้สาระ
๒๑. ให้ถือว่าการส้องเสพกับพระเป็นเจ้าผู้เป็นอกาล และการสักการะบูชาผู้เป็นแขกเป็นกิจที่ควรทำเป็นประจำ

คัมภีร์ของศาสนา

คัมภีร์ของศาสนาซิกข์เรียกว่า ครันถ - ซาหิปหรือคันถะ (ในภาษาบาลี) หมายความว่าคัมภีร์หรือหนังสือ ส่วนใหญ่เป็นคำร้อยกรองสั้นๆ รวม ๑,๔๓๐ หน้า มีคำไม่น้อยกว่าล้านคำ มี ๕,๘๙๔ โศลก โศลกเหล่านี้เข้ากับทำนองสังคีตได้ถึง๓๐ แขนง ปันเป็นเล่มได้ ๓๗ เล่ม ภาษาที่ใช้ในคัมภีร์มีอยู่หกภาษาหลักคือ ปัญจาบี (ภาษาประจำแคว้นปัญจาปอันเป็นถิ่นเกิดของศาสนา) มุลตานี เปอร์เซียน ปรากริตฮินดีและมารถี

ศาสนิกซิกข์โบราณประมาณร้อยละ ๙๐ เช่นเดียวกับศาสนิกในศาสนาอื่น ที่ไม่เคยรอบรู้คัมภีร์ของศาสนาของตนดังนั้น คัมภีร์จึงกลายเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ ผู้ไม่เกี่ยวข้องไม่สามารถแตะต้องได้ที่หริมณเฑียร หรือสุวรรณวิหาร ในเมืองอมฤตสรา แคว้นปัญจาป มีสถานที่ประดิษฐานคัมภีร์ถือเป็นศูนย์กลางศาสนาซิกข์
ในวิหารของศาสนาซิกข์ไม่บังคับให้มีรูปเคารพนอกจากคัมภีร์ ให้ถือว่าคัมภีร์นั้นคือ ตัวแทนของพระเจ้า ทุกเวลาเช้า ผู้รักษาวิหาร จะนำผ้าปักดิ้นราคาแพงมาหุ้มห่อคัมภีร์ เป็นการเปลี่ยนผ้าคลุมทำความสะอาด วางคัมภีร์ลงบนแท่นภายในม่าน ซึ่งปักด้วยเกล็ดเพชร ก่อนพิธีสวดในเวลาเช้า ครั้นตกเย็นก็นำคัมภีร์ไปประดิษฐานไว้บนตั่งทองในห้องพิเศษ ไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับต้องได้

คัมภีร์เดิมหรือช่วงแรกของศาสนานี้เรียก อาทิคันถะ รวบรวมโดยคุรุท่านที่ห้าคือคุรุอรชุน (เทพ) ประมวลจากนานาโอวาทซึ่งคุรุท่านแรกคือคุรุนานัก และโอวาทของคุรุท่านต่อ ๆ มา พร้อมทั้งวาณี (คำภาษิต) ของภคัตคือ ปราชญ์ผู้ที่มีความภักดีอย่างยิ่งต่อลัทธินี้อีก ๑๑ ท่านและมีวาณีของภคัตผู้มีอาชีพประจำสกุล มารวมไว้ในอาทิคันถะด้วย

ในเวลาต่อมาได้มีการรวบรวมโอวาทของคุรุอีกครั้งหนึ่ง โดยคุรุโควินทสิงห์ได้รวบรวมโอวาทของคุรุเทบาหาภูร์รวมเป็นคัมภีร์คันถ - ชาหิป อันสมบูรณ์
จริยธรรมของซิกข์

คำสอนตามคัมภีร์คันถ - ชาหิป ซึ่งบรรดาท่านคุรุทั้งหลายได้ประกาศไว้เกี่ยวกับจริยธรรมอันเป็นเครื่องยังสังคม และประเทศชาติให้มั่นคงอยู่ได้ และยังจิตใจของผู้ปฏิบัติให้บรรลุถึงความผาสุกขั้นสุดท้ายได้ มีนัยโดยสังเขปคือ

เกี่ยวกับพระเจ้า "รูปทั้งหลายปรากฏขึ้นตามคำสั่งของพระเจ้า (อกาลปุรุษ) สิ่งมีชีวิตทั้งหลายอุบัติมาตามคำสั่งของพระเจ้า บุตรธิดาจะได้รู้ถึงกำเนิดบิดามารดาได้อย่างไร โลกทั้งหมดร้อยไว้ด้วยเส้นด้ายคือ คำสั่งของพระเจ้า"

"มนุษย์ทั้งหลายมีพระบิดาผู้เดียว เราทั้งหลายเป็นบุตรของท่าน เราจึงเป็นพี่น้องกัน"
"พระเจ้าผู้สร้างโลก (อกาลปุรุษ) สิงสถิตย์อยู่ในสิ่งทั้งหลายที่พระเจ้าสร้างและสิ่งทั้งหลายก็อยู่ในพระเจ้า"
"อ้าหล่า (อัลลอห์) ได้สร้างแสงสว่างเป็นครั้งแรก สัตว์ทั้งหลายอุบัติมา เพราะศักดิ์ของอ้าหล่า สิ่งที่อ้าหล่าสร้างขึ้น เกิดมาแต่แสงสว่างนั้นเองจึงไม่มีใครสูง ไม่มีใครต่ำ ใครจะไม่ถามถึงวรรณะ และกำเนิดของท่าน ท่านจงแสวงหาความจริง ซึ่งพระเจ้าแสดงแก่ท่านวรรณะ และกำเนิดของท่านเป็นไปตามจารีตของท่านเอง"
"อย่าให้ใครถือตัวเพราะวรรณะของตน ผู้ซึ่งรู้จักพรหมนั่นแหละเป็นพราหมณ์ อย่าถือตัว เพราะวรรณะความถือตัวเช่นนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งความชั่ว ฯลฯ "
"คนทั้งหลาย บ้างก็เป็นอุทาสี สันยาสี โยคี พรหมจารี ยติ ฮินธุ ตุรกี ฯลฯ บางคนเป็นอิมานซาฟี จึงถือว่าคนทั้งหลายเป็นวรรณะเดียวกันหมด กรฺตา (ผู้สร้างโลกตามสำนวนฮินดู) และกรีมฺ (อ้าหล่าตามสำนวนมุสลิม) เป็นผู้เดียวกัน เป็นผู้เผื่อแผ่ประทานภัยอย่าเข้าใจผิด เพราะความสงสัย และเชื่อไปว่ามีพระเจ้าองค์ที่สอง ทั้งหลายจงปฏิบัติแด่พระเจ้าองค์เดียว คนทั้งหลายย่อมมีพระเจ้าเดียว ท่านจงรู้ไว้ซึ่งรูปเดียว และวิญญาณเดียว"
เกี่ยวกับการสร้างโลก ซิกข์สอนว่า แต่เริ่มแรกมีแต่อกาลบุรุษ ต่อมามีหมอกและกาซหมุนเวียนอยู่ได้ล้านโกฏิปี จึงมีธรณีดวงดาวน้ำ อากาศ ฯลฯ อุบัติขึ้นมา มีชีวิตอุบัติขั้นมาบนสิ่งเหล่านี้นับด้วยจำนวน ๘,๔๐๐,๐๐๐ ชนิด มนุษย์มีฐานะสูงสุด เพราะมีโอกาสบำเพ็ญธรรม เป็นการฟอกดวงวิญญาณให้สะอาด อันเป็นหนทางให้หลุดพ้นจากการเกิดการตาย

ซิกข์สอนว่าโลกมีมากต่อมาก ดวงสุริยะ ดวงจันทร์ ก็มีมากต่อมาก อากาศและอวกาศก็กว้างใหญ่ไพศาลอันผู้มีกิเลสยากที่จะหยั่งรู้ได้
เกี่ยวกับเศรษฐกิจสังคม ซิกข์สอนว่า
๑. ให้ตื่นแต่เช้าอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนรุ่งอรุณ
๒. ตื่นแล้วให้บริกรรมทางธรรมเพื่อฟอกจิตใจให้สะอาด
๓. ให้ประกอบสัมมาชีพ
๔. ให้แบ่งส่วนของรายได้ ๑๐ ส่วน มอบให้แก่กองการกุศล
๕. ให้ละเว้นการเสพของมึนเมา ประพฤติผิดประเวณี

เกี่ยวกับประเทศชาติ ศาสนาซิกข์ตั้งขึ้นโดยคุรุนานัก ผู้มองเห็นภัยที่ประเทศชาติกำลังได้รับอยู่จากคนต่างชาติ และคนในชาติเดียวกัน จึงได้ประกาศธรรมสั่งสอนคน เพื่อความดำรงอยู่ของชาติ คุรุวาณีของท่าน เป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้รับฟังมีความสามัคคีมีความรักชาติ โดยไม่เกลียดชาติอื่น
ต่อมาในสมัยคุรุโควินทสิงห์ ท่านได้สั่งสอนให้ชาวซิกข์เป็นทหารหาญ เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อชาติ คุรุหลายท่านเช่นคุรุอรชุนเทพ และคุรุเทคบาหาทูร์ ได้สละชีพเพื่อชาติ และศาสนา และบางท่านสละชีพ เพื่อป้องกันศาสนาฮินดู กล่าวคือ

- คุรุอรชุนเทพ ถูกกษัตริย์อิสลามคือ ชาหันคีร์บังคับไม่ให้ท่านประกาศศาสนา ท่านถูกจับขังที่ป้อมเมืองลาฮอร์ถูกทรมานให้นั่งบนแผ่นเหล็กเผาไฟ และถูกโบยด้วยทรายคั่วร้อนบนร่าง กษัตริย์ชาหันคีร์บังคับให้ท่านเลิกประกาศศาสนาซิกข์ และหันมาประกาศาสนาอิสลามแทน แต่ท่านไม่ยอมทำตาม จึงถูกนำตัวไปใส่หม้อต้ม และถูกนำตัวไปถ่วงในแม่น้ำระวี จนเสียชีวิต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๙

- คุรุเทคบาหาทุร ถูกกษัตริย์อิสลามประหาร เพราะเรื่องการประกาศศาสนาซิกข์เช่นกัน
ในการกู้เอกราชของประเทศอินเดีย ปรากฎว่าชาวซิกข์ได้สละชีวิตเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก
เกี่ยวกับฐานะของสตรี ศาสนาซิกข์ยกสตรีให้มีฐานะเท่าบุรุษ สตรีมีสิทธิในการศึกษา ร่วมสวดมนต์ หรือเป็นผู้นำในการสวดมนต์เท่ากับบุรุษทุกประการ คุรุนานักให้โอวาทแก่พวกพราหมณ์ผู้เคร่งในวรรณะสี่ไว้ว่า
"พวกท่านประนามสตรีด้วยเหตุใด สตรีเหล่านี้เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ราชา คุรุศาสดา และแม้แต่ตัวท่านเอง"
เกี่ยวกับเสมอภาพ และเสรีภาพ คุรุนานักสอนว่า "โลกทั้งหมดเกิดจากแสงสว่างอันเดียวกันคือ (พระเจ้า) จะว่าใครดีใครชั่วกว่ากันไม่ได้"
คุรุโควินท สิงห์ สอนว่า สุเหร่า มณเฑียร วิหาร เป็นสถานที่บำเพ็ญธรรมของคนทั้งหลายเหมือนกัน ที่เห็นแตกต่างกันบ้าง เพราะความแตกต่างแห่งกาละและเทศะ
วิหารของซิกข์มีประตูสี่ด้าน หมายความว่าเปิดรับคนทั้งสี่ทิศคือไม่จำกัดชาติศาสนา เพศ หรือวรรณะใด ในการประชุมทางศาสนาทุกคน ได้รับการปฏิบัติที่เสมอภาค ผู้แจกหรือผู้รับแจกอาหารจากโรงทานของกองการกุศล จะเป็นคนในวรรณะใด ๆ ชาติใดก็ได้คนทุกฐานะ ต้องนั่งกินอาหารในที่เสมอหน้ากัน
เรื่องของโรงอาหารเป็นสิ่งสำคัญมากของศาสนสถาน คุรุรามทาส ได้ตั้งกฎไว้ว่า ใครจะเข้าพบท่านต้องรับอาหารจากโรงทานเสียก่อน เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นประจักษ์ว่า รับหลักการเสมอภาพของท่านคุรุ ครั้งหนึ่งอักบาร์มหาราชไปพบท่านเห็นท่านนั่งกินอาหารในที่เดียวกับสามัญชน ทำให้อักบาร์มหาราชพอพระทัย ถวายเงินปีแด่ท่านคุรุผู้นี้
อีกประการหนึ่งจะเป็นผู้ใดก็ตามจะต้องปฏิบัติสังคีต (พิธีชุมนุมศาสนิก) ด้วยมือของตนเองคือต้องเช็ดรองเท้า ตักน้ำ ทำทุกอย่างด้วยตนเอง ไม่มีใครได้รับยกเว้นเป็นพิเศษ ผู้ใดปฏิบัติตามได้มาก ยิ่งเป็นซิกข์ที่ดีมาก
ศาสนาซิกข์เข้าสู่ประเทศไทย

 

ชาวซิกข์ส่วนมากยึดอาชีพค้าขายอิสระ บ้างก็แยกย้ายถิ่นฐานทำมาหากินไปอยู่ต่างประเทศบ้าง ก็เดินทางไปมาระหว่างประเทศ ในบรรดาชาวซิกข์ดังกล่าว มีพ่อค้าชาวซิกข์ผู้หนึ่งชื่อ นายกิรปาราม มาคาน ได้เดินทางไปประเทศอัฟฆานิสถาน เพื่อหาซื้อสินค้าแล้วนำไปจำหน่ายยังบ้านเกิด สินค้าที่ซื้อครั้งหนึ่ง มีม้าพันธุ์ดีรวมอยู่ด้วยหนึ่งตัว เมื่อขายสินค้าหมดแล้ว ได้เดินทางมาแวะที่ประเทศสยาม โดยได้นำม้าตัวดังกล่าวมาด้วย เขาได้มาอาศัยอยู่ในพระบรมโพธิสมภาร ของพระมหากษัตริย์สยาม ได้รับความอบอุ่นใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเมื่อเขามีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขาจึงได้กราบบังคมทูลน้อมเกล้า ฯ ถวายม้าตัวโปรดของเขาแด่พระองค์ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเห็นในความจงรักภักดีของเขา พระองค์จึงได้พระราชทานช้างให้เขาหนึ่งเชือก ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นในระหว่างเดินทางกลับอินเดีย

เมื่อเขาเดินทางกลับมาถึงอินเดียแล้วเห็นว่า ของที่เขาได้รับพระราชทานมานั้น สูงค่าอย่างยิ่งควรที่จะเก็บรักษาให้สมพระเกียรติยศแห่งพระเจ้ากรุงสยาม จึงได้นำช้างเชือกนั้นไปถวายพระราชาแห่งแคว้นแคชเมียร์ และยำมูพร้อมทั้งเล่าเรื่องที่ตนได้เดินทางไปประเทศสยาม ได้รับความสุขความสบายจากพี่น้องประชาชนชาวสยาม ซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองด้วยทศพิธราชธรรมเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของประชาชน ถวายการขนานนามของพระองค์ว่า พระปิยมหาราช
พระราชาแห่งแคว้นแคชเมียร์ได้ฟังเรื่องราวแล้วก็มีความพอพระทัยอย่างยิ่ง ทรงรับช้างเชือกดังกล่าวเอาไว้แล้วขึ้นระวางเป็นราชพาหนะต่อไป พร้อมกับมอบแก้วแหวนเงินทอง ให้นายกิรปารามมาดาม เป็นรางวัล จากนั้นเขาก็ได้เดินทางกลับบ้านเกิด ณ แคว้นปัญจาป แต่ครั้งนี้เขาได้รวบรวมเงินทอง พร้อมทั้งชักชวนเพื่อนพ้อง ให้ไปตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงสยามตลอดไป

ต่อมาไม่นานผู้คนที่เขาได้ชักชวนไว้ก็ทยอยกันมาเรื่อย ๆ ดังนั้นศาสนสถานแห่งแรกจึงได้ถูกกำหนดขึ้น โดยศาสนิกชนชาวซิกข์ ได้เช่าเรือนไม้หนึ่งคูหาที่บริเวณบ้านหม้อ หลังโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ มาตบแต่งให้เหมาะสม เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจ

ต่อมาเมื่อสังคมซิกข์เติบโตขึ้น จึงได้ย้ายสถานที่จากที่เดิมมาเช่าบ้านหลังใหญ่กว่าเดิม ณ บริเวณหัวมุมถนนพาหุรัด และถนนจักรเพชรปัจจุบัน แล้วได้อัญเชิญพระมหาคัมภีร์อาทิครันถ์ มาประดิษฐานเป็นองค์ประธาน มีการสวดมนต์ปฏิบัติศานกิจเป็นประจำทุกวันไม่มีวันหยุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นต้นไป จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๕ ศาสนิกชนชาวซิกข์จึงได้รวบรวมเงิน เพื่อซื้อที่ดินผืนหนึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ เป็นจำนวนเงิน ๑๖,๒๐๐ บาท และได้ก่อสร้างอาคารเป็นตึกสามชั้นครึ่ง ด้วยเงินจำนวนอีกประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท เป็นศาสนสถานถาวรใช้ชื่อว่า ศาสนสถานสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖

ต่อมาเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา ศาสนสถานแห่งนี้ถูกระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรถึงสองลูกเจาะเพดานดาดฟ้าลงมาถึงชั้นล่างถึงสองชั้น แต่ลูกระเบิดดังกล่าวด้าน แต่ก็ทำให้ตัวอาคารร้าว ไม่สามารถใช้งานได้ หลังจากได้ทำการซ่อมแซมมาระยะหนึ่ง อาคารดังกล่าวใช้งานได้ดังเดิม และได้ใช้ประกอบศาสนกิจมาจนนถึงปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อศาสนิกชนชาวซิกข์มีจำนวนมากขึ้นตามลำดับ จึงต่างก็แยกกย้ายไปประกอบกิจการค้าขายตามหัวเมืองต่าง ๆ อย่างมีสิทธิเสรีภาพยิ่ง และทุกแห่งที่ศานิกชนชาวซิกข์ไปอาศัยอยู่ก็จะร่วมกันก่อตั้งศาสนสถาน เพื่อประกอบศาสนกิจของตน ปัจจุบันมีศาสนสถานของชาวซิกข์ที่เป็นสาขาของสมาคมอยู่ ๑๗ แห่ง คือ ศาสนสถานสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา (ศูนย์รวมซิกข์ศาสนิกชนในประเทศไทย) กรุงเทพ ฯ และตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ อีก ๑๖ แห่งคือ จังหวัดนครสวรรค์ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี นครพนม อุบลราชธานี ชลบุรี (พัทยา) ภูเก็ต ตรัง สงขลา (อำเภอเมือง ฯ ) สงขลา (อำเภอหาดใหญ่) ยะลา และจังหวัดวปัตตานี

ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ มีศาสนิกชนชาวซิกข์อยู่ในประเทศไทยประมาณสองหมื่นคน ทุกคนต่างมุ่งประกอบสัมมาอาชีพอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ไทย ด้วยความมั่งคั่งสุขสงบทั้งกายและใจ โดยทั่วหน้า

สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา (ศูนย์รวมซิกข์ศาสนิกชนในประเทศไทย) ได้อบรมสั่งสอนกุลบุตรกุลธิดาให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้ดีมีศีลธรรม รู้จักรักษาขนบยธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ละเว้นจากสิ่งเสพย์ติดทั้งปวง ดำเนินการอุปการะช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแพร่ต่อผู้ประสบทุกข์ยากอยู่เสมอมิได้ขาด
จัดสร้างโรงเรียนซิกข์วิทยา ที่สำโรงเหนือ จังหวัดสมุทรปราการ มีห้องเรียน ๔๐ ห้อง มีนักเรียน ๓๐๐ คน ทั้งชายและหญิง สอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ

จัดสร้างสถานพยาบาล คลีนิคมานักมิชชัน เพื่อเปิดการรักษาพยาบาล มีคนไข้ที่ยากจนเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียเงิน โดยไม่จำกัดชั้น วรรณะ และศาสนา แต่ประการใด

เปิดบริการห้องสมุดนานัก บริการหนังสือต่าง ๆ ทั้งในภาคภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาปัญจาบี
เปิดสถานสงเคราะห์คนชรา เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากจน ขัดสน และขาดแคลนผู้อุปการะ
จัดตั้งมูลนิธิพระศาสดา คุรุนานักเทพ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ นำดอกผลมาสงเคราะห์นักเรียนที่เรียนดี แต่ขัดสนทุนทรัพย์
ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ กับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมการศาสนา สภากาชาดไทย มูลนิธิเด็กพิการ มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อน สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย (ในพระบรมราชูปถัมภ์) เพื่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในหมู่ศาสนิกชนศาสนาต่าง ๆ เชิญชวนให้ชาวซิกข์ออกบำเพ็ญตนเพื่อให้ประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม อบรมซิกข์ศาสนิกชนให้เป็นคนดี มีศีลธรรม ประกอบสัมมาอาชีพ ดำเนินชีวิตอย่างสมถะไม่ฟุ้งเฟ้อ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สังคมส่วนรวม โดยไม่คำนึงถึงชาติ ศาสนา ตลอดจนชั้นวรรณะ ยึดมั่นในธรรม ดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของคุณงามความดีตลอดไป