ประชุมพระราชปุจฉา

 
 
 


พระราชปุจฉา
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระราชปุจฉาที่ 1

ว่าด้วยทรัพย์มรดกของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จะเป็นของสงฆ์หรือไม่
( มีแต่พระบรมราโชบาย ไม่มีคำถวายวิสัชนา )

พระราชปุจฉาที่ 2

ว่าด้วยเรื่องพัทธสีมา จะต้องมีพระบรมราชานุญาตหรือไม่

แก้พระราชปุจฉาที่ 2
เรื่องนี้น่าจะมีคำตอบพระราชปุจฉา แต่ไม่พบต้นฉบับ แต่การที่เป็นอยู่ในบัดนี้ เป็นอันต้องกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน จึงจะผูกพัทธสีมาได้

พระบรมราชาธิบายที่ 3

ว่าด้วยการในพระพุทธศาสนา
ว่าด้วยพระราชดำรัสว่า พระพุทธศาสนานี้มีความดี ความอัศจรรย์เป็นเอนกประการ จึงมีคนเป็นอันมาก ตื่นตื่นกันนับถือ แล้วเล่าลือต่อ ๆ กันไป มีผู้บริจาคทรัพย์สมบัติ เกื้อหนุนแก่ผู้บวชเรียน คนที่บวชเป็นพระสงฆ์ สามเณร เถร ชี ว่าโดยสมบัติเป็นผู้อธิษฐานศีลเป็นนิตย์ คฤหัสถ์แม้เป็นเจ้านายก็ต้องถวายนมัสการ และเป็นผู้ที่จะรับทักขิณาทานที่เขาให้ในเวลามงคลามงคลการ ได้สร้างวัดวาอาราม แผ่ซ้านไปในบ้านน้อยเมืองใหญ่ จนถวายเป็นถิ่นฐานของคนยากคนจนอนาถา เข้ามาอาศัยเลี้ยงตนเลี้ยงท้อง ทั้งนี้ก็เพราะมีผู้ไม่ถือศาสนาจริง ๆ เข้ามาแอบอิงอาศัยอ้างเท็จอวดโกงต่าง ๆ และทรงบรรยายถึงบท ทกฺขิเณยฺโย ว่า จ้องมองจะหาคำพูด ดังนี้ทรงตำหนิลัทธิที่ถือกลุ้มอยู่ในวัด ซึ่งสืบเนื่องมานานว่า พระราชาคณะมิใจใส่เลย มัวแต่ถือสิ่งไม่เป็นสาระ ในหลวงทุกวันนี้ถือพระพุทธศาสนา แต่ถือเฉพาะเนื้อและแก่น เปลือกและกะพี้รุงรังสกปรกโสโครกที่ปนเปอยู่ถือไม่ได้ เมื่อเห็นว่าสิ่งใดไม่ดีก็จะต้องติสิ่งนั้น

พระบรมราชาธิบายที่ 4 (ความย่อ)

ว่าด้วยคำว่า ตถาคต อหํ มํ มมํ เม พระสงฆ์มาใช้ว่า อาตมาเสียหมด
ข้อนี้ทรงอธิบายถึงถ้อยคำที่พระภิกษุใช้เทศนาอยู่ทุกวันนี้ว่า รังเกียจอยู่สองคำ คำหนึ่งคือเทศน์ว่า พระพุทธเจ้าเรียกพระองค์ท่านเอง ว่าพระตถาคตทุกคำไปไม่มีวิเศษเว้นบ้าง ควรจะใช้ให้ตรงกับบาลีที่มีอยู่ เช่นในที่บางแห่งเป็น อหํ มํ มมํ เม ก็ดี มิใช่มีแต่ตถาคตโตเท่านั้น ถ้าใช้ผิดพลาดเกรงจะเป็นเท็จไป จึงควรใช้ให้ตรงกับความประสงค์ของภาษานั้น ๆ อีกคำหนึ่ง คือ อาตมา มักใช้ปนเปกันไปหมดเหมือนกัน ควรจำกัดใช้กับชนนั้น ๆ เช่น ใช้แทนคำพูดของท่านผู้พูดกับเจ้าและขุนนางตั้งแต่ชั้นเจ้าพระยา ถึงพระเป็นต้น จึงจะเหมาะสม

พระบรมราชาธิบายที่ 5 (ความย่อ)

ว่าพระภิกษุบางรูปเที่ยวฝากตัวให้กว้างขวาง ในกรมหาดไทย กลาโหม กรมท่า โดยหวังยศเมื่อสึกแล้ว
มีพระราชดำรัส ฯ ว่า พระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพ ฯ นี้ 4 พระองค์ ล้วนทรงพระราชศรัทธา เลื่อมใส หวังพระราชหฤทัยจะทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรื่องยิ่ง ๆ ขึ้นไป เมื่อทรงเห็นภิกษุรูปใดมีสติปัญญาวิทยาคุณ ควรจะเป็นพระราชาคณะ พระครูฐานานุกรม เปรียญ ก็ทรงพระราชทานฐานันดรนั้น ๆ และทรงสละพระราชทรัพย์อุทิศถวาย ปีหนึ่งเป็นเงิน 804 ชั่งเศษ ครั้นบัดนี้ ท่านเหล่านั้นที่เป็นโลลัชฌาสัย ใจมักบาป แสวงหาแต่ลาภสักการะ และยศถ่ายเดียว เที่ยวประจบฝากตัวในเจ้าในขุนนาง ไว้ตัวเป็นคนกว้างขวางในกรมมหาดไทย กรมกลาโหม กรมท่า ด้วยคิดเห็นว่า ท่านเหล่านั้นจะช่วยกราบทูลพระกรุณาให้สึกออกมาเป็นขุนนาง การที่คิดดังนี้คงไม่สมประสงค์แล้ว ต้องพระราชประสงค์แต่คนมีชาติตระกูลเป็นขุนนาง พวกชาววัดนั้นควรจะเป็นขุนนางได้แต่ในกรมลูกขุน กรมอาลักษณ์ กรมธรรมการ ราชบัณฑิต สังฆการีเท่านั้น ซึ่งชาววัดมิใช่บุตรมีชาติตระกูลจะคิดเสือกสนไป

พระบรมราชาธิบายที่ 6 (ความย่อ)

หนังสือโต้ตอบกับพะม่า
หนังสือโต้ตอบกับพม่า ในรัชกาลที่ 4 พม่า 4 คนถือหนังสือ เสนาบดีพม่า มีมาถวายสมเด็จพระสังฆราช ใจความว่า อยากจะทราบการฝ่ายพระศาสนาในกรุงสยาม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระพิมลธรรม (ยิ้ม) วัดพระเชตุพน เมื่อยังเป็นพระพรหมมุนี มีลิขิตตอบไป ใจความว่า ขออนุโมทนา และทรงชี้แจงความเป็นไปของกรุงเทพ ฯ จำเดิมแต่ประเทศสยามตกไปอยู่ในอำนาจของชนชาติอื่น และกลับมาเป็นของสยามตามเดิมแล้ว หรือการที่พม่าเป็นข้าศึกกับไทยและไทยเป็นอย่างไรกับพม่านั้น ก็ทราบอยู่ในใจของไทยแล้ว เคยมีที่พม่าแสดงตนเป็นทูตเข้ามาเจรจาเป็นสัมพันธไมตรีกับสยาม แต่ฟังไป ๆ ก็เป็นเท็จทั้งนั้น นั่นจะเป็นความประสงค์อย่างไรก็แล้วแต่การ สยามมีอัธยาศัยอันดีอยู่เสมอ สยามมีกษัตริย์ปกครองสืบ ๆ กันต่อมา การศาสนาอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ ยกย่องเกียรติคุณของพระภิกษุผู้มีสติปัญญา โดยได้รับฐานันดรศักดิ์ ตามสมควรแก่หน้าที่ได้ตั้งอยู่ในข้อปฏิบัติ บำเพ็ญกุศลทั้งภายในและภายนอกพระนคร คัมภีร์พระพุทธวจนะ พร้อมทั้งอรรถกถาฎีกา ก็มีพร้อมมูลในกรุงเทพ ฯ นี้

พระบรมราชาธิบายที่ 7 (ความย่อ)

ว่าด้วยพระภาพโมลีถวายเทศนาใช้คำผิด
เวลากลางคืน พระเทพโมลีถวายพระธรรมเทศนา พระธรรมบทเบื้องต้นผูกหนึ่ง ถึงในที่ว่าประทับพระราชศาสน์ มีดินอันบุคคลประดิษฐานแล้ว ด้วยแหวนแห่งพระราชา ครั้นถวายเทศนาจบ ทรงประเคน จึงทรงเปลื้องพระธำมรงค์ที่ทรงอยู่ในพระอนามิกา แล้วรับสั่งให้หลวงนายศักดิ์กลับไปถามพระเทพโมลีว่าอะไร ท่านก็บอกมาว่า แหวน การเรียกเครื่องประดับของพระราชาใช้คำไพร่ ๆ เช่นนี้ พระเทพโมลีเป็นพระราชาคณะที่ได้เล่าเรียนมาแล้ว น่าจะรู้จักภาษาบาลีได้ดี ถ้าเป็นพระราชาคณะไม่สมควร ควรที่จะรู้จักคำสูงคำต่ำ นี่ใช้คำพูดเหลวเละไป พระทพโมลีเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่แล้ว แต่จะหักชราก็ไม่ได้ เพราะอายุไม่ถึง 70 ปี จึงให้ลดนิตยภัยเสีย

 

พระราชปุจฉา
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชาปุจฉาที่ 1 (ความย่อ)

เรื่องแปลศัพท์พระนิพพาน
แปลศัพท์พระนิพพาน ตามโวหารพระราชาคณะหลายพระองค์ โดยพระราชปุจฉาเมื่อปี จ.ศ. 1235
สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งยังดำรงพระยศเป็นกรมพระ
นิพพานคือความดับไม่มีเหลือแห่งอวิชชา และตัณหา จนขันธ์ทั้ง 5 ไม่มีไม่เป็นต่อไป ความที่อวิชชาและตัณหาดับไม่เหลือด้วยอริยมรรค สมุจเฉทปหานนี้แล ชื่อว่านิพพาน
หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ (วัดบพิตรพิมุข)
นิพพานศัพท์นั้น แปลว่าสิ้นราคะ โทสะ โมหะ ทั้งปวง
แปลว่าธรรม เป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง
แปลว่าธรรมชาติออกจากตัณหา ฯ
หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ ครั้งยังเป็นหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์
ธรรมชาติออกจากธรรมร้อยไว้ซึ่งสัตว์ ชื่อว่านิพพาน
นัยหนึ่งว่า ธรรมชาติออกจากตัณหา อันกล่าวคือวานะ ชื่อว่านิพพาน
อีกนัยหนึ่งว่า "นิพฺพานํ" แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องดับแห่งเพลิง มี ราคะเป็นต้น ฯ
หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา
"นิพฺพานํ" นั้น เป็นเครื่องดับเพลิงกิเลส และเพลิงทุกข์ทั้งสิ้น และสรรพสังขารทั้งหมดดับสนิท เชื้อ หาเศษมิได้ ฯ
สมเด็จพระวันรัต (ทับ) ครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม
นิพพาน แปลว่า ดับเหตุเกิดทุกข์ ฯ
สมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์ ครั้งยังเป็นพระศาสนโสภณที่พระธรรมวโรดม
นิพพานศัพท์ ว่าดับ คือดับเครื่องร้อนเครื่องเผาเสีย ฯ
ก็แต่นัยว่า นิพฺพานํ ดับ คือดับเครื่องร้อนเครื่องเผา ฯ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี) ครั้งยังเป็นพระพรหมมุนี
นิพฺพานํ ธรรมชาติไม่มีแห่ง วานะ คือ ตัณหา ฯ
พระพรหมมุนี (เหมือน) ครั้งยังเป็นพระอริยมุนี
นิพฺพานํ แปลว่า ธรรมเป็นที่ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ หรือแปลว่า ธรรมเป็นที่ไม่มี วานะ ของร้อยรัด คือตัณหา ฯ
พระเทพกระวี (นิ่ม) ครั้งยังเป็นพระสุคุณคณาภรณ์
นิพพานศัพท์ คือ นิพฺพานํ แปลว่า ธรรมชาติเป็นที่ออกจากตัณหาและกิเลสทั้งปวง ฯ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่)
นิพพาน แปลว่า ออกจากตัณหา ฯ
สมเด็จพระวันรัต (สมบุญ)
อาตมภาพทราบว่าเดิมเป็น นิ 1 วานะ 1 ครั้นปริยายเอา ว เป็น พ แล้ว ทเวภาพเป็นสองสำเร็จรูปเป็นนิพพาน แปลว่า ธรรมเข้าไประงับสิ้นไม่เหลือหลง ฯ
พระพิมลธรรม (อ้น) ครั้งยังเป็นพระธรรมไตรโลก
นิพฺพานํ นั้น ตามพยัญชนะ ว่าออกจากตัณหา เป็นเครื่องเย็บร้อยไว้อย่างหนึ่ง แปลว่า ดับ ฯ
พระธรมเจดีย์ (เนียม) ครั้งยังเป็นพระเทพโมลี
แปลว่า ธรรมชาติอันใดออกจากตัณหาชื่อว่า วานะ เพราะฉะนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่า นิพพาน
นัยหนึ่งตัณหาชื่อว่า วานะ ไม่มีในธรรมชาตินี้ เพราะฉะนั้น ธรรมชาตินี้ชื่อว่านิพพาน
นัยหนึ่ง ในเมื่อธรรมชาตินี้บุคคลได้แล้ว ความที่หามิได้แห่งตัณหา ชื่อว่า วานะ ปรากฎ เพราะฉะนั้น ธรรมชาตินี้ ชื่อนิพพาน ฯ
พระธรรมไตรโลก (ทอง) ครั้งยังเป็นพระเทพมุนี
ในบทคือนิพพานนั้นว่าดับโดยไม่เหลือ ฯ
สมเด็จพระวันรัต (แดง) ครั้งยังเป็นพระเทพกวี
นิพฺพานํ นั้น โดยพยัญชนะว่า ออกจากตัณหาเป็นเครื่องเย็บร้อยไว้อย่างหนึ่งแปลว่า ดับ ฯ
พระธรรมภาณพิลาศ (ผ่อง) เมื่อยังเป็นพระโพธิวงศ์
นิพพานศัพท์ มีเนื้อความวิภาคมากหลายอย่างนัก ถ้าจะแปลสั้น ๆ